การจัดตั้งภาควิชาครุศาสตร์เทคโนโลยี
คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
cc
1.1 ชื่อโครงการ ภาควิชาครุศาสตร์เทคโนโลยี (Technological Education Department)
1.2 ชื่อหลักสูตร หลักสูตรครุศาสตร์อุตสาหกรรมมหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีเทคนิคศึกษา Curriculum for Master of Science in Technical Education (Technical Education Technology)
1.3 ชื่อปริญญา ชื่อเต็มไทย ครุศาสตร์อุตสาหกรรมมหาบัณฑิต (สาขาเทคโนโลยีเทคนิคศึกษา)
ชื่อย่อภาษาไทย ค.อ.ม. (เทคโนโลยีเทคนิคศึกษา)
ชื่อเต็มภาษาอังกฤษ Master of Science in Technical Education (Technical Education Technology)
ชื่อย่อภาษาอังกฤษ M.S. Tech.Ed. (Technical Education Technology)
1.4 ลักษณะของโครงการ เป็นโครงการใหม่ซึ่งอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติฉบับที่ 5
ภาควิชาครุศาสตร์เทคโนโลยี คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
3.1 เพื่อผลิตอาจารย์สอน และอาจารย์ผู้ควบคุมการสอนในระดับปริญญาโทหรือต่ำกว่าให้แก่สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ให้มีความรู้ความสามารถที่จะนำหลักการต่าง ๆ ด้าน เทคโนโลยีการศึกษามาปรับปรุงการเรียนการสอนวิชาประเภทอุตสาหกรรม
3.2 เพื่อผลิตผู้บริหาร นักพัฒนา และนักวิจัยทางการศึกษาวิชาชีพ ช่างอุตสาหกรรมให้ มีสมรรถภาพ
3.3 เพื่อพัฒนาวิจัยเทคโนโลยีทางการศึกษาด้านเทคนิคศึกษา และนำนวัตกรรมทางการศึกษาที่เหมาะสมมาประยุกต์และปรับปรุงการศึกษาวิชาชีพช่างอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีของประเทศ
4.1 ด้วยปรากฏว่าปัจจุบัน วงการศึกษาด้านเทคนิคศึกษาได้เจริญก้าวหน้าไปมาก จึงทำให้เกิดความต้องการนักเทคโนโลยี ด้านเทคนิคศึกษาที่มีความรู้ความสามารถตามไปด้วยเพื่อที่จะให้การศึกษาด้านเทคนิคศึกษาก้าวหน้าทัดเทียมกับการศึกษาแขนงอื่น ๆ ในปัจจุบันยังไม่มีสถาบันใดผลิตบัณฑิตในสาขานี้
4.2 ทำให้ครูอาจารย์ที่ทำการสอนด้านช่างหรือเทคนิคศึกษาอยู่ตามสถาบันการศึกษาต่างๆได้มีโอการกลับมาศึกษาต่อ อันเป็นการที่จะได้ถ่ายโอนเทคโนโลยีใหม่ๆ ไปพัฒนา การเรียนการสอน ด้านเทคนิคศึกษาให้ดียิ่งขึ้น
4.3 เนื่องจากสถาบันมีผู้ทรงคุณวุฒิ ทางสาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษาอยู่แล้ว เมื่อรวมเครื่องมืออุปกรณ์และห้องประลองที่มีอยู่ จะสามารถอำนวยประโยชน์ให้แก่สถาบัน ในอันที่จะให้บริการด้านการเรียนการสอนและการค้นคว้าวิจัยด้านวิชาการได้อย่าง มีประสิทธิภาพขึ้น
กระทรวงศึกษาธิการ ได้ขอความร่วมมือมายังสถาบัน ให้ช่วยพัฒนาบุคลากรด้านเทคนิคศึกษาให้กับวิทยาลัยครูต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อที่จะได้ให้ครูอาจารย์ ที่มีประสิทธิภาพไปสอนวิชาเอกอุตสาหกรรมศิลป์ให้แก่วิทยาลัยครู ทางสถาบันเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องช่วยพัฒนาบุคลากร ให้ตรงตามความประสงค์ของกรมการฝึกหัดครูจึงได้เปิดทำการสอนบุคลากรเหล่านี้เป็นพิเศษออกไปจากสาขาที่มีอยู่แล้วโดยเน้นหนักที่การรู้จักนำเทคโนโลยีทางการศึกษาไปใช้ในการเรียนการสอนด้านช่าง หรือเทคนิคศึกษา เพื่อให้การเรียนการสอนนี้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และคุ้มค่าประหยัดที่สุดด้วยเหตุผลดังกล่าวคณะครุศาสตร์และวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จึงเห็นสมควร จัดตั้งภาควิชาครุศาสตร์เทคโนโลยีขึ้น
ภาควิชานี้จะสามารถ
6.1 ผลิตบัณฑิตสาขาวิชาเทคโนโลยีเทคนิคศึกษาได้ปีละ 20 คน
6.2 ผลิตนักพัฒนาการเรียนการสอนช่างที่มีประสิทธิภาพ
6.3 ให้บริการด้านการเรียนการสอน และให้คำปรึกษาด้านวิชาการตลอดจนการค้นคว้าวิจัยด้านการพัฒนาการเรียนการสอนช่าง หรือเทคนิคศึกษาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
โครงการภาควิชาครุศาสตร์เทคโนโลยีนี้มีสถานที่ทำการอยู่ที่ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
โครงการนี้ เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปีการศึกษา 2523 และเป็นโครงการต่อเนื่องถาวร
9.1 จะผลิตบุคลากร ในระดับครุศาสตร์อุตสาหกรรมมหาบัณฑิต ในระยะเริ่มแรกภาคครุศาสตร์เทคโนโลยีจะผลิตบัณฑิตในระดับปริญญาโท สาขาเทคโนโลยีเทคนิคศึกษาโดยรับนักศึกษาในปีการศึกษา 2523 จำนวน 21 คน ปีการศึกษา 2524 จำนวน 20 คน ในปีการศึกษา 2525 จำนวน 22 คนทางคณะมีนโยบายที่จะรับนักศึกษาเพิ่มขึ้นเป็นปีการศึกษาละ 41 คนโดยแบ่งเป็นนักศึกษาภาคบ่าย อีก 1 ห้อง ทั้งนี้ก็เพื่อให้โอกาสแก่ผู้บริหารได้มีโอกาสเข้ารับการศึกษาต่อในระดับนี้ได้
9.2 สาขาวิชาที่จะให้การศึกษาอบรมในระยะเริ่มต้นตั้งแต่ปีการศึกษา 2523 เป็นต้นไป เปิดสอน สาขาวิชาเทคโนโลยีเทคนิคศึกษาภาควิชามีนโยบายที่จะเปิดสอนสาขาวิชาอื่น ๆ อีก คือ สาขาวิชาบริหารเทคนิคศึกษา สาขาวิชาการวัดและประเมินผลเทคนิคศึกษาและสาขาวิชาอื่นๆ ที่จำเป็นในการพัฒนาการเรียนการสอนเทคนิคศึกษาเมื่อมีความพร้อม
9.3 รับนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาอุตสาหกรรมศิลป์ สาขาวิชาครุศาสตร์เครื่องกลสาขาวิชาครุศาสตร์ไฟฟ้าสาขาวิชาครุศาสตร์โยธา หรือ ปริญญาตรีทางวิศวกรรมศาสตร์(สำหรับผู้ที่จบปริญญาตรีทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ จะต้องเรียนวิชาทางการศึกษาตามที่คณะกำหนด)
9.4 เป้าหมายอื่นๆ นอกเหนือการสอนในระดับปริญญาโทแล้วทางภาควิชาการ
9.4.1 ค้นคว้าวิจัยรูปแบบ วิธีการ และ / หรือสื่อที่เหมาะสมในการเรียนการสอนช่างหรือเทคนิคศึกษา
9.4.2 ฝึกอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการให้แก่ครู และผู้บริหารทางเทคนิคศึกษาใน ด้านเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพการเรียนการสอน
10.1 หลักสูตร 2 ปีการศึกษาสำหรับนักศึกษาภาคปกติ และหลักสูตร 3 ปีการศึกษาสำหรับ นักศึกษาภาคบ่าย
10.2 ช่วงเวลา อย่างช้าที่สุดมีระยะเวลาไม่เกิน 5 ปีการศึกษา
cc
ปรัชญาของภาควิชา
“ปัญญาสร้างเทคโนโลยี เทคโนโลยีสร้างปัญญา”
“Technology from Knowledge, Knowledge from Technology”
รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์
ปฺญญาย ชายเต โยโค โยเคน ชายเต ปฺญญา
ปัญญาสร้างเทคโนโลยี เทคโนโลยีสร้างปัญญา
ประเทศไทยเริ่มตระหนักในความสามารถทางปัญญาของประชาชนและได้เริ่มบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 ที่มีสาระสำคัญ ด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การที่นักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายกล่าวถึงความจำเป็นในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ส่วนหนึ่งหมายถึงการพัฒนาภูมิปัญญา ให้มีความสมารถทางการเรียนรู้ความรู้ที่มีอยู่ส่วนหนึ่ง หมายถึง การพัฒนาภูมิปัญญาให้มีความสามารถทางการพัฒนาความรู้ที่มีอยู่ ความสามารถในการเชื่อมโยง ความรู้ทั้งหลายให้เกิดประโยชน์และความสามารถที่จะปรับตัวเองให้เข้ากับธรรมชาติที่มีความรู้ทั้งหลายประกอบอยู่ด้วยกัน ความสามารถดังกล่าวมีอยู่ในทุกคนไม่เท่ากัน บุคคลจะมีความสามารถของภูมิปัญญาในระดับที่แตกต่างกันในปริมาณและเวลาที่แตกต่างกัน ตามสภาพของความแตกต่างระหว่างบุคคล ซึ่งมีการกระจายอยู่ในหมู่ประชากรทั่วไปเป็นลักษณะธรรมชาติอย่างหนึ่งของประชากรและ ถ้าจะมีจุดมุ่งหมายใดสักอย่างหนึ่งในการพัฒนาปัญญาของมนุษย์ให้เป็นผู้สร้างเทคโนโลยี จุดมุ่งหมายนั้นควรจะสัมพันธ์กับความสามารถของมนุษย์ที่จะเรียนรู้ได้อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติมากที่สุด โดยไม่มีการบังคับหรือใช้กฎเกณฑ์ เพื่อกำหนดพฤติกรรมการเรียนรู้ที่ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของผู้เรียนแต่ละคนที่มีแบบแผนของชีวิตและการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน
วิทยาการในการใช้เทคโนโลยี เพื่อการเรียนการสอน เป็นศาสตร์แขนงหนึ่งที่มีพัฒนาการปรากฏชัดเจนตั้งแต่ต้น คริสต์ศตวรรษที่ 19 ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สงบลง ภาพยนตร์ได้ถูกนำมาใช้เพื่อการศึกษาโดย Lashley และ Watson ในปี ค.ศ. 1919 และในปี ค.ศ. 1924 Freeman ได้ทำการศึกษาการใช้ภาพยนตร์เพื่อการสอนในโรงเรียนเมือง Chicago ประเทศสหรัฐอเมริกา ผลการศึกษาสรุปว่า ครูยังเป็นที่สนใจของผู้เรียน และทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้มากกว่าสื่อใดๆ ความเชื่อถือลักษณะนี้ยังปรากฏอยู่แม้ในปัจจุบันที่มีการพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีก้าวหน้าไปไกลจากเมื่อ 100 ปีที่ผ่านมา และผลการวิจัยออกมายืนยันหลายคราวว่าเทคโนโลยีทางการสอนสามารถนำมาใช้แทนครูได้โดยผู้เรียนสามารถให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนความคงทนทางการเรียน และความชอบทางการเรียนไม่แตกต่างหรือดีกว่าการเรียนการสอนด้วยครู ผู้โต้แย้งอ้างว่าเครื่องมือที่ใช้เก็บข้อมูลหรือวัดผลการเรียนรู้ยังไม่ดีพอที่จะครอบคลุมผลที่เกิดขึ้นจากการเรียนการสอนโดยครูหรือโดยเทคโนโลยีได้ครบถ้วน ยังมีผลจากการเรียนการสอนอีกมากที่ยังไม่ได้วัดหรือสามารถประเมินได้ให้ครอบคลุมไปถึง ซึ่งสิ่งเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการของปัญญาทั้งสิ้นไม่เฉพาะผลสัมฤทธิ์ความคงทนและความชอบทางการเรียนที่ใช้เครื่องมือที่มีอยู่วัดได้เท่านั้น อย่างไรก็ตามความพยายามนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอนยังคงมีอยู่และมีการพัฒนาขึ้นพร้อม ๆ กับเทคโนโลยีการสื่อสาร เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีฐานข้อมูล ทำให้ศาสตร์ทางด้านเทคโนโลยีการศึกษา ซึ่งเน้นเรื่องการนำเทคโนโลยี มาใช้เพื่อการเรียนการสอนต้องขยายขอบเขตออกไป เพื่อให้สามารถเข้าใจและใช้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์กับการศึกษามากที่สุดและครอบคลุมถึงคนทั้งหมด (Education for All) ทั่วประเทศ เทคโนโลยีที่นำมาใช้ในปัจจุบัน ได้แก่ เทคโนโลยีการสื่อสารผ่านดาวเทียม ทำให้เกิดการเรียนการสอนทางไกลอีกลักษณะหนึ่งแตกต่างจากเดิมที่เคยใช้ไปรษณีย์ วิทยุและโทรทัศน์ ซึ่งจะเป็นสื่อสารทางเดียว ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารดาวเทียม ทำให้สามารถสร้างข่ายการเรียนได้กว้างขวางทั่วประเทศไม่ถูกจำกัดโดยลักษณะทางภูมิศาสตร์ระยะทางนอกจากนั้น ยังสามารถเป็นการสื่อสารสองทางได้ทั้งภาพและเสียงอีก ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการเรียนการสอน เป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสร้างปัญญาของคนทั้งหมด เป็นการปรับเปลี่ยนและเสริมสร้างโครงสร้างของสมองและความคิดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม เป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมทางปัญญาให้เกิดขึ้นเท่าเทียมกันทั่วทุกคน เกิดเป็นกระบวนการที่สร้างความคิดของการเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต และประการสำคัญสามารถสร้างความรู้ใหม่ ซึ่งในความก้าวหน้าของสังคมจำเป็นต้องมีความรู้ใหม่ ขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ความสามารถในการสร้างความรู้ใหม่นี้เองคือความสามารถทางปัญญาเพื่อสร้างเทคโนโลยี ทั้งในส่วนของเทคโนโลยีในรูปเครื่องมือและในรูปของเทคนิควิธีการ (Technology Know-How) จากการใช้เทคโนโลยีสร้างภูมิปัญญาที่ต้องการ คือปัญญาในการสร้างความรู้ใหม่ เป็นภูมิปัญญาที่สร้างเทคโนโลยีจะต้องพัฒนาอย่างบูรณาการ (Integrations) การจะพัฒนาอย่างบูรณาการได้ต้องมีปัญญาอย่างบูรณาการ
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี ได้แสดงแนวคิดใน “ยุทธศาสตร์ทางปัญญาของชาติ” แสดงถึงการเรียนรู้มีอยู่ 3 ระดับ คือ 1. เกิดความรู้ ที่รู้ความจริง 2. เกิดปัญญาที่เชื่อมโยงความรู้ต่าง ๆ ได้ 3. เกิดจิตสำนึกเพราะความเข้าใจตัวเองที่สัมพันธ์กับสรรพสิ่งทั้งหลาย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี ยังได้อธิบายถึงสภาพการเรียนรู้ของมนุษย์ที่เรียนรู้เป็นส่วนๆ แยกย่อยไปเรื่อย ๆ โดยขาดความรู้ที่เป็นบูรณาการหรือการเชื่อมโยง โดยท่านให้เหตุผลว่าในโลกแห่งความเป็นจริงนั้นเป็นโลกแห่งการเชื่อมโยงเป็นองค์รวมและการที่ทั่วโลกพูดถึงการพัฒนาแบบยั่งยืน (Sustainable Development) ซึ่งหมายถึงการพัฒนาทุกด้านที่เชื่อมโยงกันทั้งทางเศรษฐกิจจิตใจสิ่งแวดล้อมวัฒนธรรมการเมืองรวมทั้งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเรียกว่าพัฒนาอย่างบูรณาการทางปัญญา 4 ประเภท ดังนี้ 1. ปัญญาของความรู้ธรรมชาติที่เป็นวัตถุอันได้แก่ วิทยาศาสตร์กายภาพ 2. ปัญญาของความรู้ทางสังคม อันได้แก่ วิทยาศาสตร์สังคมหรือสังคมศาสตร์ 3. ปัญญาของความรู้ทางศาสนา เป็นการเรียนรู้จักตัวเองเป็นวิทยาศาสตร์ข้างใน หรือ Inter Science 4. ปัญญาของความรู้เรื่องการจัดการเป็นการจัดการทั้งภายในตัวเองและภายนอกทั้งหมด การพัฒนาของความรู้ในตัวขององค์ความรู้ทั้ง 4 ด้านได้พัฒนาไปมาก แต่ความรู้ชนิดใดชนิดหนึ่งไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดความสมดุลภายในสังคมได้ ควรมีการบูรณาการทางปัญญาทั้ง 4 ประการ เข้ามาใช้ให้ครบทุกด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้มีปัญญาในการสร้างเทคโนโลยีอย่างเดียว ซึ่งส่วนมากเป็นผลิตผลของวิทยาศาสตร์กายภาพ ไม่สามารถสร้างความสมดุล เพื่อจรรโลงสังคมให้มีความสงบสุขได้ จำเป็นต้องขยายพิสัยของปัญญา ในการสร้างเทคโนโลยีให้ครอบคลุม เทคโนโลยีทางสังคมซึ่งเกี่ยวข้องกับธรรมชาติของมนุษย์และมนุษย์เป็นส่วนสำคัญที่สุด เพราะเป็นผู้ตัดสินใจสร้างและเลือกใช้ เทคโนโลยีซึ่งอาจจะนำมาซึ่งความสงบสุขหรือความหายนะได้เท่าเทียมกัน สถาบันการศึกษาที่เน้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำเป็นต้องคำนึงถึงการบูรณาการและเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีเชิงระบบหรือวิธีการ (Technology Know-How) ซึ่งเกิดจากการศึกษาและวิจัยเป็นสำคัญ
การใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอนมุ่งหวังให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี ลักษณะของเทคโนโลยีที่นำมาใช้เป็นการส่งเสริมช่องทางของการติดต่อสื่อสาร เพื่อส่งสารทั้งจากผู้สอนและจากผู้เรียนแต่มนุษย์มีระบบการรับสารหรือรับสัมผัสที่นำมาใช้ได้ดีเพียง 5 ทาง เท่านั้น คือ ทางตา หู จมูก ลิ้นและผิวหนังหรือสัมผัส ไม่นับรวมทางจิต ซึ่งเป็นช่องทางการสื่อสารและการเรียนรู้ขั้นสูง ช่องทางของการรับรู้เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในตัวมนุษย์ธรรมชาติได้กำหนดไว้แล้ว และในการเรียนการสอนระบบรับสัมผัสของมนุษย์ที่นำมาใช้ให้สามารถรับสารที่ส่งมาจากสื่อหลากหลายชนิดนิยมอยู่ 2 ทาง คือ ทางหูและทางตา (Audio และ Visual) และได้มีการศึกษาว่ามนุษย์รับรู้สิ่งต่างๆ จากการเห็นด้วยตามากที่สุด 73 % และทางการได้ยิน หรือทางหูประมาณ 11 % ที่เหลือเป็นการรับรู้จากระบบรับสัมผัสทางจมูก ลิ้นและผิวหนัง จากการศึกษาดังกล่าว อนุมานต่อไปอีกว่ามนุษย์น่าจะเรียนรู้ จากการเห็นมากที่สุดเพราะสามารถรับรู้ได้มากก็จะมีการเรียนรู้ได้มากในการจัดการเรียนการสอนมักนิยมวัดผลและประเมินผลจากการรับรู้และเรียนรู้จากสิ่งที่ได้รับ โดยพิจารณาจากความสามารถในการจำและเข้าใจสิ่งต่างๆ เป็นสำคัญซึ่งการพัฒนาให้มนุษย์จำและเข้าใจได้มากๆ นั้นมีเทคนิควิธี และใช้เทคโนโลยีมากมาย เพื่อช่วยให้มนุษย์ได้บรรลุความต้องการระดับนี้แต่มั่นใจได้อย่างไรว่าผู้เรียนเกิดปัญญา กระบวนการเกิดปัญญานั้นอาจเกิดขึ้นได้เองและเกิดโดยการสั่งสอน (Heuristics and Didactics) ซึ่งแต่ละคนมีแบบแผนของการเกิดปัญญาแตกต่างกันการใช้เทคโนโลยี เพื่อสร้างปัญญาเป็นความปรารถนาของนักเทคโนโลยีการศึกษา แต่ลักษณะบางประการของเทคโนโลยีไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ ดังนี้ 1. เทคโนโลยีขาดความยืดหยุ่นการใช้เทคโนโลยี มีปัจจัยทางเศรษฐกิจ เข้ามามีส่วนด้วยการกำหนดกฎเกณฑ์ ของการใช้เพื่อเหตุผลของความประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย ไม่สามารถเข้าถึงความต้องการที่หลากหลายของมนุษย์ได้ 2. ความเป็นสัตว์สังคม มนุษย์พอใจที่จะอยู่ร่วมกัน ถ่ายทอดความรู้จากผู้หนึ่งด้วยแบบแผนของการมีชีวิตร่วมกันในสภาพของสังคมเดียวกัน มากกว่าที่จะรับรู้และเชื่อถือจากการถ่ายทอดด้วย เทคโนโลยีหรือเครื่องมือที่เป็นวัตถุไม่มีชีวิตและจิตใจ ไม่มีความรู้สึกหรืออารมณ์ร่วม 3. โอกาสที่ไม่เท่าเทียมกัน การใช้เทคโนโลยี ไม่สามารถใช้ได้กับคนทั้งหมด (Not for All) นอกจากความสามารถทางระดับสติปัญญา ที่จะสามารถรับรู้และเข้าใจเทคโนโลยีได้ จึงเป็นความแตกต่างทางกายภาพ แล้วความแตกต่างทางสังคมในการมีโอกาสเข้าใจเทคโนโลยี จะมีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นปัจจัยสกัดกั้นโอกาสอีกด้วยซึ่งการมีโอกาสไม่เท่ากันของมนุษย์เป็นธรรมชาติที่ปรากฏอยู่ อย่างไรก็ตามนักเทคโนโลยีการศึกษาได้พยายามแก้ไขข้อจำกัดเหล่านี้ แต่โดยลำพังเฉพาะนักเทคโนโลยีแล้วไม่สามารถทำได้ เพราะปัญญาเกิดจากองค์รวมของระบบต่างๆ ประกอบกัน สิ่งที่นักเทคโนโลยีที่ทำได้พยายามแก้ไขข้อจำกัดเรื่องความยืดหยุ่นได้มีทางพยายามสร้างเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการลงทุน และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนตามความต้องการ ความสามารถความสนใจและเวลาของผู้เรียนให้มากที่สุด ทางด้านความเป็นสัตว์สังคมการออกแบบเทคโนโลยี เพื่อการสอนได้พัฒนาให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมมีปฏิสัมพันธ์มากขึ้น มีความพอใจและชอบที่จะเรียน โดยมีการศึกษาถึงความชอบในการเรียนด้วยและประการสุดท้ายเรื่องของโอกาสที่ไม่เท่าเทียมกัน นอกจากจะพยายามลดช่องว่างเรื่องระยะทางและเวลาด้วยใช้เทคโนโลยีชั้นสูงแก้ปัญหา เช่น ดาวเทียมและคอมพิวเตอร์ ซึ่งสามารถปรับตัวเองให้เหมาะสมกับระดับสติปัญญาของผู้เรียนแล้วการจัดการเพื่อให้ผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำ ได้มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีชั้นสูงกำลังดำเนินอยู่เช่นกัน
การพัฒนาปัญญาเพื่อสร้างเทคโนโลยีเป็นวงจรของการพัฒนาที่เชื่อมต่อกัน โดยการใช้เทคโนโลยีสร้างปัญญาอีกต่อหนึ่ง เมื่อมีปัญญาก็สามารถสร้างเทคโนโลยีได้ การใช้เทคโนโลยีสร้างปัญญา ต้องพิจารณาธรรมชาติของการเกิดปัญญาของมนุษย์ ถ้าใช้เทคโนโลยีที่ขาดความสอดคล้องกับธรรมชาติแล้ว ก็ไม่สามารถบรรลุผลที่ต้องการได้ การพัฒนาให้เกิดปัญญาต้องพัฒนาให้เป็นบูรณาการของความรู้ด้านต่างๆ โดยให้ผู้เรียนได้สัมผัสจริงให้มากขึ้น ในทุกระดับของความรู้ในด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศาสนา และการจัดการ เพื่อเชื่อมโยงความรู้ทั้ง 4 ประเภทเข้าด้วยกัน จึงเป็นยุทธศาสตร์ทางการจัดการศึกษา เพื่อพัฒนาปัญญาที่สำคัญที่สุดของสังคมทั้งหมด สถาบันการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำเป็นต้องคำนึงถึงการบูรณาการของศาสตร์อื่นๆ ด้วย และเทคโนโลยีเชิงระบบหรือวิธีการ (Technology Know-How) ซึ่งจะเกิดได้จากการศึกษาและการวิจัยที่ต้องได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจัง จึงจะสามารถสร้างภูมิปัญญาอันเป็นจุดหมายสำคัญ เพื่อสร้างเทคโนโลยีได้อย่างที่ต้องการ
cc
อัตลักษณ์และเอกลักษณ์
อัตลักษณ์ (Identity)หมายถึง ผลที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนตามปรัชญา ปณิธานวิสัยทัศน์ พันธกิจ และ วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสถานศึกษา
เอกลักษณ์ (Uniqueness) หมายถึง ความสำเร็จตามจุดเน้นและจุดเด่นที่สะท้อนให้เห็นเป็นลักษณะโดดเด่นเป็นหนึ่งของสถานศึกษา หรือ ความสำเร็จของสถานศึกษา ดังนั้น อัตลักษณ์และเอกลักษณ์ จึงไม่เหมือนกัน
cc
ตราสัญลักษณ์ของภาควิชา
ติดต่อเรา
ภาควิชาครุศาสตร์เทคโนโลยีและสารสนเทศ
อาคาร 52 ชั้น 6
คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
1518 ถ.ประชาราษฎร์ 1 แขวงวงศ์สว่าง
เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 10800
โทร. 0-2587-8256, 0-2555-2000 ต่อ 3208
Facebook : TechnologicalEdu
Line Official : MET Kmutnb
งานบริการนักศึกษา
ดาวน์โหลดเอกสาร/คำร้อง
คู่มือการจัดทำเล่มวิทยานิพนธ์/สารนิพนธ์
โครงการ/กิจกรรม
รวมภาพกิจกรรม
ครุศาสตร์เทคโนเพื่อชุมชน
ครุศาสตร์เทคโนรวมน้ำใจ
บริการวิชาการ